สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
(Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) – สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (oap.go.th)
การให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ของประเทศไทย
สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty : CTBT) มีจุดมุ่งหมายหลักคือห้ามมิให้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆ ไม่ว่าในสิ่งแวดล้อมใด (ในอวกาศส่วนนอก อากาศ ใต้น้ำ และใต้ดิน) เพื่อป้องกันมิให้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก
CTBT ได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ และเปิดให้ลงนามที่นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ โดยประเทศไทยได้ลงนามใน CTBT เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
ปัจจุบัน มีประเทศลงนามในสนธิสัญญาฯ จำนวน ๑๘๗ ประเทศ ในจำนวนนี้ ได้ให้สัตยาบัน ๑๗๘ ประเทศ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากข้อ ๑๔ (Article XIV) ได้กำหนดว่า สนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อ ๔๔ ประเทศที่ระบุอยู่ในภาคผนวก ๒ ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าร่วมการประชุมการลดอาวุธในปี ค.ศ.๑๙๗๖ และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยในครอบครองขณะนั้น ได้ลงนามและให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฯ เรียบร้อยแล้วทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ มีประเทศในภาคผนวก ๒ ลงนามในสนธิสัญญาฯ จำนวน ๔๑ ประเทศ (สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาฯ) ในจำนวนนี้ ได้ให้สัตยาบัน จำนวน ๓๕ ประเทศ (สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน รัฐอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยสหพันธรัฐรัสเซีย ถอนการให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖)
วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญา CTBT
ภายใต้หนังสือแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยทำกับสำนักเลขาธิการทางวิชาการ (Provisional Technical Secretary for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO/PTS) ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ โดยมีพันธกรณีที่ต้องดำเนินการภายใต้สนธิสัญญา ดังนี้
- ห้ามการทดลองระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ใด หรือการทดลองระเบิดนิวเคลียร์อื่นใด ไม่ว่าจะ ณ ที่ใดบนโลก
- จัดตั้งระบบเฝ้าตรวจทั่วโลกเพื่อบังคับใช้ และพิสูจน์ยืนยันความยึดมั่นในการเข้าร่วมเป็นภาคีของสนธิสัญญาและเพื่อตรวจจับการละเมิดสนธิสัญญา
- เชิญชวนรัฐทั้งปวงเข้าร่วมเป็นภาคี และส่งเสริมการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ และเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของนานาประเทศ
การดำเนินงานของไทยตามพันธกรณีของสนธิสัญญา
ประเทศไทยได้ดำเนินงานตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาฯ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นสากลของสนธิสัญญาฯ ระบบตรวจพิสูจน์ตามสนธิสัญญาฯ การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
การจัดตั้งและดำเนินงานสถานีเฝ้าตรวจภายใต้ระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ (International Monitoring System, IMS) ในประเทศไทย
- สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น ๖๕ (Radionuclide Monitoring Station, RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งครอบคลุมระบบวัดกัมมันตภาพรังสีของอนุภาคในอากาศ ทีเอชพี ๖๕ (Particulate Monitoring System; THP65) และระบบวิเคราะห์ก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสี ทีเอชเอ็กซ์ ๖๕ (Radionuclide Noble Gas System; THX65)
- สถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส ๔๑ (Primary Seismic Monitoring Station, PS41) ณ สถานีวัดความสั่นสะเทือน จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งและดำเนินงาน ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Center, NDC; N171) ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ