(ตอนที่ 4 การสำรวจปริมาณรังสีพื้นหลังเพื่อเตรียมความพร้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี)
การวัดปริมาณรังสีพื้นหลัง (Background Radiation Measurement) เป็นการวัดปริมาณรังสีในพื้นที่ที่สนใจเพื่อให้ได้ข้อมูลของรังสีพื้นหลัง กล่าวคือรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบระหว่างสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินทางรังสีหากพื้นที่ดังกล่าวมีการตรวจพบปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้นจากข้อมูลปริมาณรังสีพื้นหลัง
ปัจจุบัน ปส. ได้มีการสำรวจเพื่อรวบรวมปริมาณรังสีพื้นหลังรอบพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สถานประกอบการทางรังสี พื้นที่สำคัญที่มีประชากรหนาแน่น พื้นที่เหมืองแร่เก่า รวมถึงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากฝุ่นกัมมันตรังสีที่เกิดจากเหตุฉุกเฉินของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเครื่องวัดรังสีที่ใช้ในการสำรวจเรียกว่า SPARCS (Spectral Advance Radiological Computer System) เป็นเครื่องวัดรังสีแบบเฉพาะที่ใช้ร่วมกับยานพาหนะ (รถยนต์ เฮลิคอปเตอร์) ให้เคลื่อนที่ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสำรวจปริมาณรังสีแล้วนำเสนอผลการวัดรังสีในรูปแบบเชิงแผนที่ที่สามารถแสดงปริมาณรังสีพื้นหลังของพื้นที่นั้น ๆ ตามเส้นทางที่กำหนด ซึ่งในต่างประเทศจะประยุกต์ใช้ร่วมกับอากาศยานเพื่อการเก็บข้อมูลรังสีพื้นหลังบริเวณพื้นที่เป้าหมายที่ไม่ขึ้นกับเส้นทางการสำรวจทางบก เป็นการลดข้อจำกัดเรื่องเส้นทางการสำรวจหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในพื้นที่ที่เส้นทางการจราจรไม่เอื้ออำนวย
ขณะดำเนินการสำรวจรังสี ระบบ SPARCS จะส่งข้อมูลการสำรวจรังสีแบบทันที (Real Time) ผ่านระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์ (Cloud Server) กลับมายังศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีแห่งชาติ (NuREAC) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญใช้วางแผนและให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุได้ทันที
ในอนาคต ปส. มีแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการสำรวจปริมาณรังสีพื้นหลังตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลปริมาณรังสีพื้นหลังของแต่ละพื้นที่ และเมื่อเกิดเหตุ ปส. จะดำเนินการสำรวจรังสีในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางรังสี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเปรียบเทียบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น หากมีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
ติดตามตอนที่ 5 ตอนสุดท้ายของเรื่องนี้ ในวันพรุ่งนี้
เรียบเรียงโดย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี