Skip to content

การเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย (ตอนที่ 1 ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี)

(ตอนที่ 1 ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี)

             เมื่อกล่าวถึงเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี อีกหนึ่งภารกิจหลักสำคัญของ ปส. ที่ต้องมีการดำเนินการคือ การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Nuclear and Radiological Emergency Preparedness and Response) ตามมาตรฐานสากล โดยการเตรียมความพร้อมจะมุ่งเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และระบบการบัญชาการสถานการณ์หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

ด้านการเตรียมความพร้อม

             ปส. ได้ดำเนินการจัดตั้งห้องศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีแห่งชาติ (National Nuclear and Radiological Emergency Administration Centre: NuREAC) เพื่อรองรับระบบการบัญชาการสถานการณ์ ซึ่งประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้
1. ห้องศูนย์บัญชาการสภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
2. ห้องศูนย์ข้อมูลและเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสี
3. ห้องประเมินสถานการณ์ และ
4. ห้องประสานงาน การสื่อสารและการข่าว

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีแห่งชาติ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวม ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการข้อมูล อำนวยการและบริหารจัดการสถานการณ์

ด้านการตอบสนองต่อเหตุ

             เมื่อเกิดเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ปส. จะเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมบริหารจัดการทางนิวเคลียร์และรังสี กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ปส. ภายในศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีนี้จะปฏิบัติงานภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 ในส่วนการสนับสนุนการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 10 ส่วนงานสารเคมี วัตถุอันตรายและกัมมันตรังสี โดย ปส. จะทำหน้าที่ในการประสานการปฏิบัติงาน ประเมินสถานการณ์ และร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีภายในประเทศไทย

ติดตามอ่านตอนที่ 2

เรียบเรียงโดย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี