ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดกิจกรรม the Table-Top Exercise on the International Convention for the Suppression of Acts of Nuclear Terrorism (ICSANT) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ
นางเพ็ญนภา กัญชนะ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะภายใต้กรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (ICSANT) เป็นความพยายามที่สำคัญที่รวมพันธมิตรในภูมิภาคเข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และส่งเสริมการประสานงานอันดีต่อกันในอนาคต
ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติของประเทศไทยด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศของเราปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (International Convention for the Suppression of Acts of Nuclear Terrorism – ICSANT) ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญา ICSANT อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการมุ่งมั่นของประเทศในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระดับโลก อีกทั้งยังช่วยให้ประเทศมีกลไกที่จำเป็นในการป้องกันและตอบสนองต่อการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งไทยถือเป็นรัฐภาคีลำดับที่ 116 ของอนุสัญญาฯ และอนุสัญญาฯ โดยมีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป อนุสัญญาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรการและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน และปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำผิดต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินโดยใช้วัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ และการก่อวินาศกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และสถานประกอบการหรือยานพาหนะที่มีวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์
ปส. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการกำกับดูแลความปลอดภัย ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ และการสร้างขีดความสามารถที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ความพยายามของเราขยายออกไปนอกเหนือจากการกำหนดนโยบายไปจนถึงการนำไปปฏิบัติจริงอย่างครอบคลุมทุกด้าน ปส. ตระหนักถึงผลกระทบที่สำคัญของภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ รวมถึงผลที่อาจตามมาจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ดังนั้น เราจึงมุ่งเสริมสร้างศักยภาพอย่างต่อเนื่องโดยจัดโครงการที่เกี่ยวข้องโดยผสานความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศพันธมิตร ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เช่น การตรวจจับรังสี การเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เหตุ การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และการประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการจัดการกับภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120