“ศุภมาส” ขับเคลื่อนนโยบายนิวเคลียร์ไทย เน้นความปลอดภัยและยั่งยืน

           นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (พนส.) พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และนิติศาสตร์ ไฟเขียวปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการภายใต้ พนส. ให้การทำงานครอบคลุม มีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพ ติดตามขับเคลื่อนและการประเมินผลด้านกฎหมาย และหนึ่งในประเด็นสำคัญคือพิจารณาแนวทางการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMRs) ซึ่งเป็นนโยบายด้านพลังงานสะอาดและความยั่งยืนของ รมว.อว. เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ตามแผน PDP ของประเทศ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทําเนียบรัฐบาล

            ในวันนี้ (31 ตุลาคม 2567) นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ เปิดเผยว่า บอร์ด พนส. ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบในหลักการของร่างข้อตกลงการควบคุมดูแลการประกอบกิจการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ระหว่างคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. …. ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นการอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และพิจารณาเห็นชอบรายงานสรุปผลการตรวจประเมินการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของประเทศไทยกรณีการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ จากประเทศญี่ปุ่น ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดย ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้มีการตรวจสอบน้ำทะเลและอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ซึ่งผลการตรวจประเมินไม่พบการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ปรับโครงสร้างของคณะอนุกรรมการ เพื่อพัฒนามาตรฐานและส่งเสริมการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยและยั่งยืน ตลอดจนขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ได้แก่
1. คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการและบำรุงรักษาเครื่องมือทางนิวเคลียร์และรังสีด้านการแพทย์ของประเทศ
3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)

อีกทั้ง ยังพิจารณาให้ความเห็นชอบจัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนที่นำทางและขับเคลื่อนการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานแบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMRs) ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัย วิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน ตลอดจนแนวโน้มในอนาคตของการผลิตพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมหากประเทศไทยมีการ SMRs มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามแผน PDP ของประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายหลักกระทรวง อว. ด้านพลังงานสะอาด ความยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ บอร์ด พนส. ได้รับทราบรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560 – 2565) และรับทราบผลการดำเนินงานตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะอนุกรรมการภายใต้ พนส. จำนวน 17 คณะ การดำเนินงานด้านพันธกรณีของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และยังได้ติดตามความก้าวหน้าของกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 พร้อมทั้งรับทราบการดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเพื่อเตรียมปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเลขานุการคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 4111 – 4112

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120

Skip to content