พลังงานนิวเคลียร์: พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคใหม่?

พลังงานนิวเคลียร์: พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคใหม่ ?

               ในยุคที่พลังงานคือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานนิวเคลียร์กำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่หลายประเทศใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ !

               ย้อนมองประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่ราคาถูก สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมหนัก เช่นการผลิตเหล็กและยานยนต์ ซึ่งทำให้พวกเขา ต่อยอดความสำเร็จสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง !

              แล้วในวันนี้? จีนก็กำลังเดินตามเส้นทางเดียวกัน โดยเพิ่มการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดพลังงานโลก และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

             ในทางกลับกัน เยอรมนีที่เลือกไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ กลับต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียและอเมริกา สถานการณ์นี้ทำให้เยอรมนีมีความเปราะบาง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต เช่นสงครามยูเครน ซึ่งเป็นบทเรียนที่หลายประเทศต้องพิจารณา

              ไทยจะเป็นอย่างไร? หากเรายังคงพึ่งพาพลังงานนำเข้า และไม่ได้สร้างแหล่งพลังงานที่เสถียรและมีประสิทธิภาพ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ ในอนาคตเราอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีพลังงานสำรองที่มั่นคง

             แต่เดี๋ยวก่อน! พลังงานนิวเคลียร์ไม่เพียงแค่ผลิตไฟฟ้า มันยังเป็นรากฐานของเทคโนโลยีล้ำสมัยในหลายอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษา รวมถึงนวัตกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มประสิทธิภาพ พลังงานนิวเคลียร์ยังช่วยลดการพึ่งพาเอทานอลจากการเกษตรในภาคการขนส่ง ซึ่งลดการเผาป่าเพื่อทำไร่ ป้องกันการสูญเสียพื้นที่สีเขียว ลดโอกาสเกิดน้ำป่าไหลหลาก และลดมลพิษ PM 2.5 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม!

________________________________________

             เราควรพิจารณาพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกสำคัญสำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทยหรือไม่? ความมั่นคงทางพลังงานอาจเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน!

              เรียบเรียงโดย : นายพงศ์พันธ์ นาคแก้ว วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ
              สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120

Skip to content