เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดการประชุมวิชาการโครงการระบบนิเวศ YMID สำหรับการวิจัยและการบริการการรักษาด้วยโปรตอน (YMID ecosystem for proton therapy research and service platform) โดยมี รศ.ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ โดย รศ.ดร. พาสิทธิ์ เผยว่า “โครงการ Yothi Medical Innovation District (YMID)” เป็นนโยบายสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ต้องการผลักดันให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงหลักในการวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน (Sustainability) มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการรักษามะเร็ง ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ทันสมัย และมีความปลอดภัยต่ออวัยวะข้างเคียงที่รักษา ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปส. จึงร่วมกับ รพ.รามาฯ จัดการประชุมฯ นี้ โดยมี Prof. Chris J. Beltran, Ph.D. (Chair, Division of Medical Physics, Department of Radiation Oncology, Mayo Clinic, Jacksonville, Florida, USA ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง และเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย “YMID ecosystem for proton therapy research and service platform” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคาร 1 ปส. ให้แก่ เจ้าหน้าที่ของ ปส. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กว่า 140 คน ทั้งในรูปแบบออนไลน์และที่ ปส. เพื่อเสริมความรู้และทักษะการใช้เครื่องอนุภาคโปรตอนในทุกขั้นตอน ตลอดจนการวัดรังสีและการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม และในวันที่ 25-26 เมษายน 2567 จะจัดการประชุมฯ ขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
รศ.ดร. พาสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ปส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เพื่อเสริมความรู้และศักยภาพ พร้อมก้าวให้ทันเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์และรังสีใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมเตรียมแนวทางการกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยในทุกมิติ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการครอบครองและใช้งานเครื่องไซโครตรอน (Proton Therapy) จำนวน 1 เครื่อง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีการขอใบอนุญาตฯ จาก ปส. เมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในปัจจุบัน
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120