IAEA ตรวจประเมินระบบการป้องกันอันตรายจากรังสีของไทย 9 หน่วยงาน

         สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ ร่วมกับหน่วยงานที่ให้บริการทางเทคนิค (Technical Service Providers) และหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากต้นกำเนิดรังสี (Operators) ของไทย เข้ารับการตรวจประเมินระบบการป้องกันอันตรายจากรังสี สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับรังสี โดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency; IAEA) เพื่อนำผลที่ได้จากการตรวจประเมินมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติงานกับรังสีได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจส่งผลต่อผู้ปฏิบัติงาน ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางรังสีให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ในวันนี้ (11 มีนาคม 2567) รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการประชุมการประเมินระบบการป้องกันอันตรายจากรังสี สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี ในหัวข้อ Occupational Radiation Protection Appraisal Service (ORPAS) Mission to Thailand ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญของ IAEA เป็นผู้ตรวจประเมินฯ โดยมีหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากรังสีเข้ารับการตรวจประเมินทั้งสิ้น 18 หน่วยย่อย จาก 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บริษัท ศิวะ เทสติ้ง อินสเพ็คชั่น แอนด์ คอลซัลติ้ง จำกัด บริษัทซานมิเกลเบียร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นากาเซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 11 – 19 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคาร 1 ปส. เพื่อตรวจประเมินและพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการกำกับดูแลในด้านการป้องกันอันตรายและความปลอดภัยทางรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีของไทย รวมทั้งยกระดับมาตรฐานในด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีไปสู่ระดับสากล

รศ.ดร.พาสิทธิ์ เปิดเผยว่าประเทศไทยรับการตรวจประเมินระบบป้องกันอันตรายจากรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีเป็นครั้งแรก ซึ่งหน่วยงานที่รับการตรวจประเมินจะได้ทราบว่าระบบการป้องกันอันตรายจากรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี อยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลหรือไม่ (General Safety Requirements Part 3; GSR Part 3) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA จะทำการตรวจประเมินในด้านต่าง ๆ เช่น การควบคุมวัสดุกัมมันตรังสี การตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน การตรวจประเมินการได้รับปริมาณรังสีประจำตัวบุคคล การจัดการผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์เหตุฉุกเฉินทางรังสี มาตรการและโปรมแกรมการป้องกันอันตรายจากรังสี เป็นต้น ซึ่งหลังจากการตรวจประเมินแล้วคณะผู้เชี่ยวชาญจะสรุปผลและประเมินติดตามงานต่อไป

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120

Skip to content