นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาในงาน iBusiness Forum 2024 หัวข้อพลิกเศรษฐกิจไทยก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดประเด็นเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์พลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยนั้น ขอย้ำว่าตนก็ได้มีการประกาศนโยบายส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วตามที่ได้ประกาศนโยบาย “อว. For EV” ไปแล้ว ขอเรียนว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) หน่วยงานในสังกัด อว. และมีฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ มีความพร้อมทั้งด้านกฎหมายและศักยภาพบุคลากรในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ตามมาตรฐานสากล หากไทยมีแผนใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมสำคัญ
รศ.ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใน 32 ประเทศ และผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 10 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ประเทศลำดับต้น ๆ ที่มีคือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน ส่วนประเทศที่กำลังจะมี คือ บังกลาเทศ อียิปต์ และตุรกี โดยทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กว่า 400 โรง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกกว่า 50 โรง ดังนั้นมั่นใจว่าประเทศไทยพร้อมกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ หากรัฐบาลไทยผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ปส. ได้พัฒนากฎหมายในการกำกับดูแลทางนิวเคลียร์ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่า 20 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับการเตรียมพร้อมหากประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยปัจจุบันที่เป็นที่นิยมมากขึ้นคือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานแบบ SMR (Small Modular Reactor) นอกจากนี้การจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ประเทศไทยยังต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งจากความเสียหายทางนิวเคลียร์ และจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีเนื้อหาอนุวัติการอนุสัญญาที่สำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่
1) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งจากความเสียหายทางนิวเคลียร์ (Vienna Convention on Civil Liability for Nuclear Damage)
2) พิธีสารแก้ไขอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งจากความเสียหายทางนิวเคลียร์ (Protocol to Amend the Vienna Convention on Civil Liability for Nuclear Damage)
3) พิธีสารร่วมระหว่างอนุสัญญากรุงเวียนนาและอนุสัญญากรุงปารีส (Joint Protocol Relating to the Application of the Vienna Convention and the Paris Convention)
4) อนุสัญญาชดเชยเพิ่มเติมสำหรับความเสียหายทางนิวเคลียร์ (Convention on Supplementary Compensation for Nuclear Damage)
พร้อมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีแผนเดินหน้าใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มาตรา 45 กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องได้รับใบอนุญาตจาก เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ตามลำดับ ได้แก่
1) ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ (มาตรา 51)
2) ใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ (มาตรา 55)
3) ใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ (มาตรา 64)
และก่อนที่จะขอรับใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ต้องทดสอบระบบเครื่องจักรและอุปกรณ์ (มาตรา 62) หรือทางเทคนิค เรียกว่า การทำ cold test และขออนุญาตบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (มาตรา 63) หรือทางเทคนิค เรียกว่า การทำ hot test ด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปส. ได้เตรียมความพร้อมในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการพัฒนากฎหมาย การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร การศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการทางนิวเคลียร์และรังสีทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์มิใช่เพียงเพื่อผลิตพลังงานเท่านั้น ประเทศยังมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานดังกล่าวมากมายทั้งในด้านการแพทย์ การวิจัย การศึกษา อุตสาหกรรม โดยมี ปส. กำกับดูแล เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
ฐานข้อมูลเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (The Power Reactor Information System; PRIS) https://pris.iaea.org/pris/
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120