สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลทางนิวเคลียร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Nuclear Regulatory Commission; U.S. NRC) จัดการอบรมเสริมศักยภาพบุคลากรด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็ก พร้อมแจงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงแนวทางในการประเมินโดสและการแพร่กระจายของรังสีจากสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
ในวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2567) นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การวิเคราะห์ความปลอดภัยในสภาวะไม่ปกติของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็ก SUT-RR (Suranaree University of Technology Research Reactor) และวิธีการประเมินโดสและการแพร่กระจายของรังสี” (Overview of Transient Analyses for SUT-RR, and Dose and Dispersion Methodologies) ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก Brookhaven National Laboratory (BNL) ประเทศสหรัฐอเมริกา มาถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ปส. จำนวน 26 คน เข้าร่วมการอบรมฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคาร 1 ปส.
นางเพ็ญนภา เปิดเผยว่า การอบรมฯ ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการกำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสีของ ปส. และเสริมทักษะบุคลากรในด้านการประเมินความปลอดภัยโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของ U.S. NRC ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการประเมินการแพร่กระจายของรังสี เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรของ ปส. สำหรับการประเมินความปลอดภัยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็ก (ขนาด 45 กิโลวัตต์) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในการประกอบการพิจารณาให้อนุญาตก่อสร้างต่อไป ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็กของ มทส. นี้มีแผนการใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ ได้แก่ การรักษามะเร็ง พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ในด้านวิจัยต่าง ๆ เช่น วัสดุศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นต้น
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120