สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมจัดประชุมทางวิชาการ (Symposium) เฉพาะทาง “Symposium SP9: Radioecology and Environmental Radioactivity” หรือนิเวศวิทยารังสีและกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม จากทั้งหมด 11 สาขา ภายในงานประชุมนานาชาติ the 49th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT49) ภายใต้หัวข้อ “SDGS FOR THE BENEFIT OF MANKIND” ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 23-25 มกราคม 2567 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จังหวัดสงขลา
ดร. ยุทธนา ตุ้มน้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู ปส. ได้ร่วมกับ ดร. วิภาดา งานสม อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่ประธาน Symposium SP9 กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาด้านนิเวศวิทยารังสีและกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมาก ทำให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมการสะสมและการกระจายตัวของนิวไคลด์กัมมันตรังสีชนิดต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับการประเมินระดับรังสีและความเสี่ยงทางรังสีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ใช้ประกอบการกำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยทางรังสีในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการปล่อยสารกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งในการดำเนินงานปกติและในกรณีอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีจากสถานประกอบการ อาทิ เหมืองแร่ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก การระบายน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมา เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในทุกมิติสำหรับประชาชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งภายใต้ Symposium SP9 ได้รับเกียรติจากนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Hirosaki University ประเทศญี่ปุ่น มาบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัยที่เข้าร่วมบรรยายและนำเสนอโปสเตอร์ใน SP9 อีกด้วย
การประชุม STT49 นี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานประชุมฯ ซึ่งมีทั้งการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ.2023 และนักวิจัยระดับโลกในสาขาต่างๆ การประชุม 6 สาขาย่อยทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและนวัตกรรม และการประชุมทางวิชาการ (Symposium) เฉพาะทางอีก 11 สาขา เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองในเชิงวิชาการในหลากหลายสาขาวิชา การสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals, SDGs) ของประเทศ
เผยแพร่โดย : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม เบอร์โทรศัพท์ภายใน 1110 , 1120