สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยผลตรวจอาหารทะเลจากญี่ปุ่น “ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี” พร้อมเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง
นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลแล้วจำนวน 3 ครั้ง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 วันที่ 5 ตุลาคม 2566 และล่าสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการบริโภคอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย โดย ดร.ยุทธนา ตุ้มน้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณูและรองโฆษก ปส. เปิดเผยว่า ปส. ได้ดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อนของซีเซียม-134 (Cs-134) ซีเซียม-137 (Cs-137) สทรอนเชียม-90 (Sr-90) และทริเทียม-3 (H-3) ในตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับจากกรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วจำนวนทั้งสิ้น 120 ตัวอย่าง ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก หอย ปู สาหร่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในตัวอย่างอาหารที่ผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นจากร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ จำนวน 55 ตัวอย่าง เช่น ข้าวญี่ปุ่น ซูชิ ชาบูน้ำดำ ไข่ปลาแซลมอน เป็นต้น
ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่า ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเชื่อมั่นในการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดของ ปส. ซึ่งมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลทั้งจากในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์ ปส. www.oap.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0 2596 7600 ต่อ 4304 และ 4403