การประชุมหารือทวิภาคีด้านความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยกับ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

วันที่ 26 กันยายน 2566 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม Thailand – Bilateral consultations on the TC Programme in Asia and the Pacific ซึ่งเป็นการประชุมหารือทวิภาคีด้านความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยกับ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมคู่ขนานในระหว่างการประชุมใหญ่สมัยสามัญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ สมัยที่ 67 (The 67th IAEA General Conference: IAEA GC67) ซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานกลางระหว่างประเทศไทยกับ IAEA (National Liaison Office) ได้หารือร่วมกับ Department of Technical Cooperation เพื่อรายงานผลการดำเนินความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Cooperation Programme: TC) และติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ TC ของประเทศไทย การรายงานผลความสำเร็จที่ได้รับจากโครงการในสาขาต่างๆ และหารือถึงปัญหา อุปสรรค ของการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งการหารือด้านนโยบายสำคัญ อาทิ การวางแผนกิจกรรม การรับการสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และด้านงบประมาณสำหรับกิจกรรมด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีในสาขาต่างๆ และการวางแผนเกี่ยวกับการจัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการระดับประเทศ รอบ ปี พ.ศ. 2569 – 2570 นอกจากนี้ได้มีการหารือการจัดทำกรอบความร่วมมือทางวิชาการของประเทศไทย รอบปี พ.ศ. 2566 – 2572 (Country Programme Framework: CPF) โดยกรอบ CPF ถือเป็นเครื่องมือหลักเพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยกับ IAEA ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งครอบคลุมทุกสาขา อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตรและโภชนาการ ด้านการอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และในโอกาสนี้ IAEA ได้สนับสนุนการริเริ่มโครงการสำคัญ อาทิ โครงการ Zoonotic Disease Integrated Action หรือ ZODIAC ซึ่งจะทำงานเพื่อช่วยในการควบคุมโรคที่ข้ามจากสัตว์สู่มนุษย์ โครงการ Nuclear Technology for Controlling Pollution (NUTEC Plastic) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี (ร่วมกับเทคนิคทั่วไป) สำหรับควบคุมและลดปริมาณขยะพลาสติก และโครงการ Rays of Hope เพื่อยกระดับการใช้รังสีรักษาในทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

         ประเทศไทยย้ำเจตนารมณ์ในการประสานความร่วมมือกับ IAEA เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์อย่างสันติเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อเสริมสร้างการใช้นิวเคลียร์อย่างสันติในทุกด้าน

Skip to content