กระทรวง อว. จับมือ สธ.ยกระดับการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทั้งบุคลากร เครื่องมือ กลไกการควบคุมและเฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมและยกระดับภารกิจด้านการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับบริบทของประเทศตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2564 – 2570 โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวง สธ. เป็นสักขีพยาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

  ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว. และ สธ. เป็นมิตรที่ดีและทำงานร่วมกันมาตลอดตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ที่ผ่านมา กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานวิชาการสำคัญของประเทศ ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์และรังสี ที่ถูกนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม ด้านการแพทย์ เป็นต้น

  “กระทรวง อว. ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์และรังสี ให้เหมาะสมและมีความปลอดภัยมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในวงกว้าง พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ดังนั้น จึงต้องมีกลไกควบคุมที่เหมาะสม ที่แสดงว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความปลอดภัย มีการดูแลทั้งด้านผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการสร้างกลไกการควบคุมดูแล เตรียมความพร้อม และตอบสนองหากมีภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะสร้างความแน่ใจให้กับประชาชนว่า หากต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉิน ประเทศไทยจะมีการควบคุมดูแล มีหลักเกณฑ์ มีกฎหมายที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพประชาชน โดยมี อว.และ สธ. เป็นหน่วยงานหลักที่จะมาทำงานร่วมกัน บริหารความร่วมมือต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมบุคลากร เตรียมเครื่องมือ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งด้านการพัฒนาวิชาการ เทคโนโลยีที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งการดูแลสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว

       ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ประชาชนมีความตื่นตัวและเห็นประโยชน์ในเรื่องของรังสีและนิวเคลียร์ค่อนข้างน้อยและยังไม่กว้างขวาง ทั้งที่เรื่องของรังสีและนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่มีประโยชน์หากรู้จักใช้และป้องกันอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาประเทศของเราให้มีความก้าวหน้า และทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ แต่การรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ยังค่อนข้างที่จะกังวลในเรื่องของรังสีและนิวเคลียร์ เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ดังนั้น การสนับสนุนในเชิงการแพทย์และสาธารณสุขจึงมีความสำคัญมาก เพื่อที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลอย่างถูกต้องและหากเกิดเหตุฉุกเฉินประชาชนจะได้รับการปกป้องอย่างไร การเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวัง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องระดมกำลังและแรงสนับสนุนในการทำแผนระหว่าง อว. และ สธ. ทั้งเรื่ององค์ความรู้ การจัดหาอุปกรณ์ การจัดการระบบ รวมถึงบุคลากร เพื่อสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

อกจากนี้ อว. โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางระหว่างประเทศ ได้รับมอบเครื่องมือวัดทางรังสีเพื่อใช้ในการตอบสนองทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ภายใต้การสนับสนุนจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จึงขอมอบเครื่องมือวัดรังสีฯ ดังกล่าวให้แก่ สธ. จำนวน 15 เครื่อง มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานด้านทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีต่อไป

Skip to content