ปส.เตือนประชาชนใช้บัตรพลังงานหวังรักษาโรค พบรังสีปนเปื้อน ห่วงผู้ใช้มีผลต่อร่างกายในระยะยาว ย้ำไม่ควรรับรังสีโดยไม่จำเป็น

 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ออกโรงเตือนอีกครั้ง สำหรับประชาชนนำบัตรพลังงานจุ่มน้ำดื่มรักษาโรค พบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนแม้ไม่สูงมาก แต่อาจมีผลกระทบระยะยาว ย้ำประชาชนไม่ควรได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น  

         666

จากกรณีที่มีกระแสข่าวประชาชนซื้อบัตรพลังงาน หรือ บัตรสมาร์ทการ์ด คล้ายบัตร ATM ที่อ้างว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคโดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ และใช้วิธีการนำบัตรไปแกว่งในแก้วน้ำแล้วนำมาดื่ม หรือนำแก้วน้ำวางทับบนบัตรแล้วดื่ม รวมทั้งมีการนำบัตรสัมผัสกับร่างกายในจุดที่ปวดเมื่อย ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวออกไปนั้น

         ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี ขอเรียนแจ้งว่า ได้มีการติดตามกรณีข่าวลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2558 จากการตรวจวิเคราะห์ของ ปส. ที่ผ่านมา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน พบว่าวัสดุดังกล่าวมีองค์ประกอบของสารกัมมันตรังสีในอนุกรมทอเรียม-232 และยูเรเนียม-238 ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณและระดับรังสีมีค่าไม่สูงจนก่อให้เกิดอันตรายโดยเฉียบพลันได้ แต่หากเกิดการแตกหักของบัตร และนำไปผสมน้ำเพื่อดื่ม อาจเกิดการสะสมในร่างกายทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ 
         ปส. ขอให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าพิจารณาก่อนตัดสินใจใช้สินค้านั้นว่า จะได้รับประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายมากกว่ากัน อีกทั้ง ประโยชน์ของสินค้าดังกล่าวยังไม่มีผลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับ ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการเกิดผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายในระยะยาว ควรหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี หรือวัตถุอันตราย เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์หรือความคุ้มค่าแล้ว อาจได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าระดับรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งนี้หากประชาชนผู้ใช้สินค้ามีข้อกังวลด้านความปลอดภัยดังกล่าว สามารถสอบถามหรือนำส่งสินค้าให้ ปส. หรือหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบด้านความปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้สามารถอ่านข้อมูล “รู้จักกับผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวที่มีส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี” ได้ที่ https://www.oap.go.th/images/documents/resources/media-library/newsletters/oap-newsletter-28-3-2558.pdf

          ทั้งนี้ ตามแนวทางของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) การจัดการกับผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้หลังจากไม่มีการใช้งานแล้ว สามารถพิจารณาจากค่ากัมมันตภาพ หรือความเข้มข้นกัมมันตภาพของผลิตภัณฑ์นั้น หากมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกำหนดไว้ จะสามารถจัดการขยะเหล่านี้ในลักษณะเดียวกับขยะสามัญทั่วไปได้ “หากค่ากัมมันตภาพ หรือความเข้มข้นกัมมันตภาพมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องมีการจัดการขยะเหล่านั้นในลักษณะเป็นกากกัมมันตรังสี” ทั้งนี้สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://oap.go.th/images/documents/resources/media-library/newsletters/oap-newsletter-29-2-2559.pdf

Skip to content