ประเด็นคำถามและคำชี้แจงที่สำคัญเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙
คำถาม พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ให้อะไรกับประชาชนบ้าง
ตอบ พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งให้หลักประกันด้านความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปัจจุบันนี้ พลังงานนิวเคลียร์และรังสีมีการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย เช่น การใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ การผลิตและใช้เภสัชรังสีในการรักษามะเร็ง การใช้รังสีวินิจฉัย การปลอดเชื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การถนอมอาหารโดยการฉายรังสีอาหาร การปรับปรุงพันธุ์พืช การวิเคราะห์ดิน และการควบคุมแมลงโดยการฉายรังสีให้กลายพันธุ์ และด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้เป็นกฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างมาตรการความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในมิติใด แต่หากรัฐบาลอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต รัฐบาลเองต้องทำให้ประชาชนยอมรับในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อน
คำถาม ทำไมถึงต้องมีพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ จะใช้ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ได้หรือ
ตอบ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานมาก บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องและทันต่อเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์และรังสีที่เปลี่ยนแปลงไป สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจึงมีความจำเป็นที่ต้องเสนอให้มีการแก้ไข เช่น
๑. การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ควบคุมได้เฉพาะส่วนการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เท่านั้น ไม่ควบคุมครอบไปถึงเรื่องการเลือกสถานที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์และการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
๒. การกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ กำกับดูแลได้เฉพาะเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ ไม่ครอบคลุมเครื่องกำเนิดรังสีอื่น ๆ เช่น เครื่อง Cyclotron รวมถึงไม่มีบทบัญญัติในการควบคุมการนำเข้าส่งออกเครื่องกำเนิดรังสี
๓. พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีอำนาจเพียงเข้าตรวจสอบสถานประกอบการและรายงานผลการตรวจสอบนั้นต่อคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับเหตุยับยั้งการปฏิบัติงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนั้น พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มิได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินทางรังสี
๔. พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ กำหนดให้การพิจารณาการออกใบอนุญาตทุกชนิด ทุกประเภท เป็นอำนาจของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งไม่เหมาะสมในการปฏิบัติในสภาพปัจจุบัน
๕. พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่มีบทบัญญัติที่จะรองรับการเข้าเป็นภาคีหรือการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่จำเป็นในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี
๖. พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว
๗. บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
คำถาม ในการยกร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. …. ได้มีการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากประเทศต่างๆ หรือไม่
ตอบ การยกร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ ได้ผนวกผลการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เข้าไปด้วย นอกจากนี้ การยกร่างได้ยึดตามหลักการร่างตามคู่มือกฎหมายนิวเคลียร์ (Handbook on Nuclear Law) ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) เพื่อให้เป็นร่างกฎหมายที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ การยกร่างยังได้นำหลักของสนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นแนวทางในการยกร่างด้วย เช่น
(๑) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพต่อวัสดุนิวเคลียร์ (Convention on the Physical Protection of Nuclear Material) โดยหลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ใน มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๔๐
ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ การอนุวัติการอนุสัญญานี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่ประเทศไทยจะปฏิบัติตามข้อมติที่ ๑๕๔๐ ขององค์การสหประชาชาติซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ได้
(๒) สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty – CTBT) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ใน มาตรา ๑๔๑
ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมือง ว่าประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ และเห็นว่าการทดลองดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกและความมีเสถียรภาพในภูมิภาค รวมทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประชาคมโลก
(๓) อนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Convention on Nuclear Safety) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ หมวด ๕ เรื่อง สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ มาตรา ๔๕ ถึง มาตรา ๗๔
ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมประชุม และทราบความก้าวหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศเวียดนามซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงต่อประเทศไทย ประเทศไทยจะสามารถให้ความเห็นในเวทีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ ความเห็นดังกล่าวรวมถึงความเห็นในกรณีที่จะต้องให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และความเห็นในกรณีที่เห็นควรให้ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้
(๔) อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และความปลอดภัย ในการจัดการกากกัมมันตรังสี (Joint Convention on the Safety of Spent Fuel Management and on the Safety of Radioactive Waste Management) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ หมวด ๖ และ หมวด ๗ เรื่องเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว มาตรา ๗๕ ถึงมาตรา ๘๓ และ มาตรา ๘๔ ถึงมาตรา ๘๗
ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและความปลอดภัยในการจัดการกากกัมมันตรังสี คือ ความโปร่งใสในการจัดการกากกัมมันตรังสีของประเทศไทยและประเทศภาคีสมาชิกอื่น ๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบมาตรการและนโยบายในการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีอนุสัญญา และประเทศไทยสามารถให้ความเห็นการประชุมระหว่างประเทศดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบ ความโปร่งใสและความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของประเทศเวียดนามซึ่งกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และประเทศไทยอาจมีความเห็นในที่ประชุมระหว่างประเทศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้
(๕) พิธีสารเพิ่มเติมภายใต้สนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Additional Protocol under Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons) หลักการดังกล่าวได้บัญญัติอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ หมวด ๘ เรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และพิทักษ์ความปลอดภัย (มาตรา ๘๘ ถึงมาตรา ๙๗) และหมวด ๑๓ เรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๑๑๓)
ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยได้รับ เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแท้จริง จึงนำไปสู่การป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเน้นการให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างการไม่แพร่ขยายอาวุธและการลดอาวุธ รวมทั้งสิทธิของรัฐภาคีในการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ พิธีสารเพิ่มเติมสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยในการขับเคลื่อนการไม่แพร่ขยาย และลดอาวุธนิวเคลียร์ได้
คำถาม กากกัมมันตรังสีจะไปไหน ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้
ตอบ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไม่มีบทบัญญัติถึงการจัดการกากกัมมันตรังสีไว้โดยเฉพาะ แต่ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ได้มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกากกัมมันตรังสีไว้โดยเฉพาะในหมวด ๖ กากกัมมันตรังสี ทั้งนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีจะต้องจัดการกากกัมมันตรังสีตามที่กำหนดไว้
ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการกากกัมมันตรังสี
คำถาม หากพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ประกาศใช้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีความพร้อมด้านบุคลากรหรือไม่
ตอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ส่งบุคลากรของสำนักงานเองเข้าอบรมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและต่างประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย ๒๐๐ ทุนต่อปี ทั้งการฝึกอบรมจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) สหภาพยุโรป (EU) และหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศอื่น ๆ เป็นต้น การพัฒนาบุคลากรเป็นนโยบายหลักเพื่อให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติพัฒนาให้มีระบบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมเทคโนโลยีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศได้อย่างยั่งยืน
คำถาม พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ฉบับนี้ มีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ตอบ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้มีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ส่วนของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ขอรับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งจัดทำรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับเบื้องต้น ฉบับสมบูรณ์ และเอกสารหรือหลักฐานทางการเงิน (มาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๕) รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัย (มาตรา ๕๖)
เมื่อจะดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ผู้ประกอบการต้องยื่นขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ด้วย (มาตรา ๖๔)
สำหรับมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางรังสี จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์นี้ไว้ในกฎหมายลำดับรองให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตต้องดำเนินการเพื่อระงับหรือป้องกันอันตรายจากรังสีที่อาจเกิดกับบุคคล ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม
คำถาม การกำหนดอัตราโทษในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการกำหนด
ตอบ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดอัตราโทษต่าง ๆ ของการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ว่า หากการกระทำความผิดต่าง ๆ ตามร่างกฎหมายฉบับนี้สร้างความเสียหายอย่างร้างแรงต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรกำหนดบทระวางโทษโดยใช้หลักความได้สัดส่วน (principle of proportionality) ในการลงโทษผู้กระทำความผิด ที่ต้องพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดนั้น ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษผู้กระทำความผิด
คำถาม องค์ประกอบของคณะกรรมการและ อำนาจในการกำกับดูแลของคณะกรรมการในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติแตกต่างจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติหรือไม่
ตอบ เดิม การออกใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้าและส่งออก ตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติทั้งหมด
ส่วนพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ จะมีการแบ่งอำนาจในการออกใบอนุญาต ๒ กรณี คือ
๑. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีอำนาจออกใบอนุญาตบรรดาวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์
๒. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีอำนาจออกใบอนุญาตสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติก่อนจึงจะออกใบอนุญาตสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ได้
พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ กำหนดให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ด้วย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัย (Security) ด้วย ซึ่งเป็นมิติหนึ่งในความมั่นคงของประเทศ แต่ทั้งนี้การกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางทหารจะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้น
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังได้มีกำหนดเพิ่มปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการในคณะกรรมการฯ ด้วย เนื่องจากพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ได้มีการบรรจุเรื่องการระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี อยู่ในหมวด ๑๐ และการระงับเหตุฉุกเฉินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภารกิจของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙
พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ | พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ |
การควบคุมการใช้พลังงานปรมาณู ดังนี้
๑. การออกใบอนุญาตการผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุพลอยได้หรือพลังงานปรมาณูจากเครื่องกำเนิดรังสี (มาตรา ๑๒ (๑) ประกอบ ข้อ ๕ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐) ๒. การออกใบอนุญาตการผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุต้นกำลัง (มาตรา ๑๒ (๑) ประกอบ ข้อ ๙ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐) ๓. การออกใบอนุญาตการผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้พลังงานปรมาณูจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู (มาตรา ๑๒ (๑) ประกอบ ข้อ ๑๔ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐) ๔. การออกใบอนุญาตนำหรือส่งออกวัสดุพลอยได้ (มาตรา ๑๓ ประกอบ ข้อ ๖ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐) ) ๕. การออกใบอนุญาตนำหรือส่งออกวัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุต้นกำลัง (มาตรา ๑๓ ประกอบ ข้อ ๑๑ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต พ.ศ.๒๕๕๐) |
การควบคุมการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสี ดังนี้
๑. การออกใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้, ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่าน วัสดุกัมมันตรังสี ๒. การออกใบอนุญาตทำ มีไว้ในครอบครองหรือใช้, ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก เครื่องกำเนิดรังสี ๓. การออกใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้, ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่านวัสดุนิวเคลียร์ ๔. การควบคุมสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ดังนี้ ๔.๑ การออกใบอนุญาตสถานที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ๔.๒ การออกใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ๔.๓ การทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ๔.๔ การดำเนินการและการเลิกดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ เป็นต้น ๕. การควบคุมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ๖. การควบคุมการจัดการกากกัมมันตรังสี |