ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA)

iaea logo

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) 

ได้ริเริ่มให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1955 โดยประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติร่วมใจกันสนับสนุน ตามแผนการปรมาณูเพื่อสันติของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ซึ่งทบวงการฯ ได้รับการรับรองและเห็นชอบเกี่ยวกับธรรมนูญของทบวงการฯ ในที่ประชุมสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่26 ตุลาคม ค.ศ. 1956 และจัดตั้งทบวงการฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1957 มีสำนักงานอยู่ที่ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยแผนการปรมาณูเพื่อสันติ ได้เสนอแนะให้ตั้งขึ้นอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ขององค์การสหประชาชาติ จุดประสงค์หลัก คือ เพื่อเป็นการลดวัสดุแปรธาตุได้ (Fissionable Materials) ของแต่ละประเทศ โดยการบริจาคจากคลังสะสมของแต่ละประเทศรวมเป็นกองทุนให้ประเทศสมาชิกของทบวง การฯ ได้มีโอกาสแบ่งปันไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางสันติทั่วโลก

ในปี ค.ศ. 1960 ทบวงการฯ มีสมาชิกรวม 70 ประเทศ หน้าที่อันสำคัญยิ่งตามแผนการเดิม ก็คือ ทบวงการฯ นี้เปรียบเสมือนธนาคารกองทุนของ Fissionable Materials (ยูเรเนียม 235) ถ้าหากประเทศที่มีวัตถุประเภทนี้เข้าสมทบทุนอย่างจริงใจแล้ว โดยทางอ้อมก็เท่ากับเป็นการลดปริมาณของวัตถุระเบิดปรมาณูของแต่ละประเทศที่ มีไว้เพื่อการสงครามให้น้อยลง จากกองทุนนี้จะได้แบ่งตามข้อตกลง และสัญญาให้แก่ประเทศที่ไม่มี นำไปใช้ในทางสันติ ทั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทบวงการฯ ว่าประเทศที่ได้รับส่วนแบ่งไป จะไม่นำไปใช้ในกิจการทหาร โดยมีประเทศ ที่แสดงความจำนงจะมอบยูเรเนียม-235 ในสภาพที่มีความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 20 ถ้าทบวงการฯ ต้องการ เมื่อคิดเป็นยูเรเนียม-235 ล้วน ๆ แล้วมีปริมาณ ดังนี้ : สหรัฐอเมริกา จะมอบยูเรเนียม ประมาณ 5,000 กิโลกรัม สหภาพโซเวียต จะมอบยูเรเนียมประมาณ 50 กิโลกรัม สหราชอาณาจักร จะมอบยูเรเนียมประมาณ 20 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ทบวงการฯ ยังดำเนินการช่วยเหลือในด้านให้อุปกรณ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ แก่ประเทศที่ต้องการ จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปช่วยแนะนำและสำรวจ ในการจัดขอความช่วยเหลือของประเทศต่าง ๆ ให้ทุนการศึกษาแก่นักวิทยาศาสตร์จากประเทศสมาชิกเพื่อไปศึกษา อบรม ณ สถาบันของประเทศที่ก้าวหน้าในด้านพลังงานปรมาณู ในขณะเดียว กัน ทบวงการฯ ได้ดำเนินกิจการโดยวางข้อกำหนดการใช้วัตถุกัมมันตภาพรังสีให้ประเทศสมาชิก ปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยร่วมกัน พิจารณาวิธีจัดการของเสียที่ไม่ต้องการ แต่ยังแสดงคุณสมบัติกัมมันตภาพรังสี (Waste disposal) เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นส่วนรวม

ทบวงการฯ ได้จัดสร้างห้องปฏิบัติการระหว่างประเทศขึ้นที่ ไซเบอร์ซดอร์ฟ (Seibersdorf) ใกล้กรุงเวียนนา เพื่อเป็นที่ทำการทดลองค้นคว้าวางมาตรฐานเกี่ยวกับวัตถุกัมมันตภาพรังสี และเป็นที่ศึกษาทดลองของนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสมาชิก

ก่อนจะเป็น ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ : IAEA (www.iaea.org)

Skip to content