นิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Forensics) เป็นการดำเนินการที่หาความเชื่อมโยงของวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์และวัตถุพยานที่ปนเปื้อนรังสี เพื่อนำไปสู่การสืบหาแหล่งที่มา กระบวนการผลิต สถานที่ผลิต วัตถุประสงค์ในการใช้งาน และผู้ถือครองมาประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบเพื่อสามารถสนับสนุนการพิสูจน์
ข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้งานนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสนับสนุน
งานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ในส่วนของการยับยั้ง และตอบโต้ต่อภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ ซึ่งตามหลักของการรักษา
ความมั่นคงนั้น โดยมากแล้วผู้ก่อการร้ายจะไม่เลือกปฏิบัติการกับประเทศที่มีศักยภาพทางนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เพราะมีโอกาส
ล้มเหลวสูง รวมทั้งการที่ประเทศมีศักยภาพด้านนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ถือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการป้องปราม
รวมถึงการเบี่ยงเบนความสนใจต่อการก่อวินาศกรรม ซึ่งต้องอาศัยการประสานความร่วมมือของเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่าง
ประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานด้านนิติวิทยาศาสตร์
ประกอบด้วยการดำเนินการ 3 ส่วนหลัก ดังนี้
นิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของประเทศ
เนื่องจาก ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลาง และเป็นทางผ่านของประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีแนวโน้มความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาชญากรรมและการลักลอบที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงได้จากการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ประจำปี พ.ศ. 2555 ผู้นำประเทศได้กล่าวแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ และเพื่อลดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ โดยได้แสดงความเห็นว่า ในโลกโลกาภิวัตน์ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงที่กว้างขึ้น จึงมีความเสี่ยงมากขึ้นที่นิวเคลียร์และวัตถุเกี่ยวเนื่อง อาจตกไปอยู่ในกลุ่มคนไม่หวังดีในทุกขณะ ไทยในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางทางการค้าและโลจิกติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องประชาคมอาเซียน และจากผู้ที่อาจจะพยายามใช้ประโยชน์ จากการเชื่อมโยงเพื่อก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ในการประชุม ทั้งนี้ ไทยได้เสนอการสร้างเครือข่ายร่างกฏระเบียบนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะช่วยให้ภูมิภาคปลอดภัยขึ้นจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ รวมทั้งงานนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Forensics) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอีกเครื่องมือหนึ่ง โดยไทยกำลังอยู่ในกระบวนการการก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับศักยภาพทางเทคนิคในเรื่องสืบค้นทางนิวเคลียร์
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2556 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย และทุนจากสหภาพยุโรปโครงการ 30 คือ “Network of Excellence for Nuclear Forensics in South East Asia Region”โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการคือ สนับสนุนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยการเพิ่มศักยภาพทางนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และวิธีการวิเคราะห์วัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์ รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือสำหรับห้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของภูมิภาคอาเซียน
ขั้นตอนปฏิบัติงานนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของประเทศ
นอกจากนี้ ปส. ได้มีการพัฒนาศักยภาพงานนิติวิทยาศาตร์นิวเคลียร์ของประเทศ โดยแบ่งกรอบการดำเนินงานเป็น 4 ส่วนหลัก คือ
1) การบริหารจัดการสถานที่เกิดเหตุ :
ดำเนินการอบรมวิธีการเผชิญเหตุที่เกี่ยวข้องกับรังสีให้แก่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า เป็นประจำทุกปี
2) การวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ :
สร้างศักยภาพการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์และรังสีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
3) การพัฒนาฐานข้อมูลทางนิวเคลียร์และรังสี :
ปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และสามารถสนับสนุนงานนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) การสร้างเครือข่ายของประเทศ :
ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการพัฒนางานหลักตามกรอบทั้ง 4 ส่วนไปพร้อมกัน รวมทั้งจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของประเทศร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีแผนจัดการฝึกซ้อมร่วมกับเครือข่ายเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถสนับสนุนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ