ห้องปฏิบัติการมาตรฐานด้านกัมมันตภาพรังสีและวัสดุอ้างอิงรังสี เป็นหนึ่งในสามห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางรังสีของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ดำเนินงานโดยกลุ่มงานมาตรฐานการวัดรังสีและกัมมันตภาพรังสี เพื่อรองรับภารกิจหลัก คือ การสถาปนาและรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานด้านกัมมันตภาพรังสีของประเทศ โดยใช้ระบบวัดแบบ 4p ไอออนแชมเบอร์สองชุดคือ IG11/A20 และ IG12/N20 ซึ่งได้สอบย้อนกลับไปยังมาตรฐานแห่งชาติของญี่ปุ่น National Metrology Institute of Japan (NMIJ) โดยใช้สารกัมมันตรังสีอ้างอิงระดับปฐมภูมิซึ่งได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจาก NMIJ เช่น Ba-133, Co-60, Co-57, Y-88, Cs-137 และ I-131 เป็นต้น
นอกจากระบบวัดแบบ 4p ไอออนแชมเบอร์ แล้ว ยังมีระบบวัดอ้างอิง Liquid Scintillation Counters (LSC), High Purity Germanium Detectors และเครื่องวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีเพื่อการแบ่งตวงสารเภสัชรังสี (Dose Calibrators) จำนวน 2 เครื่อง รวมถึง Imaging Plate Analyzer สำหรับการวัดและสอบเทียบต้นกำเนิดรังสีแอลฟาบีตาแบบแผ่นแบนสำหรับใช้ในการสอบเทียบเครื่องวัดและสำรวจความเปรอะเปื้อนสารรังสี
ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของห้องปฏิบัติการ NSRL คือ การเป็นตัวแทนของประเทศเพื่อเข้าร่วมการทดสอบความสามารถกับองค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น แผนงานมาตรวิทยาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Metrology Programme, APMP) เพื่อให้การพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ สอดคล้องตามมาตรฐาน มอก. 17025
ภารกิจประจำของห้องปฏิบัติการฯ คือ
- รับรองค่าความแรงรังสีของ ต้นกำเนิดรังสีชนิดของเหลวหรือของแข็งที่มีค่ากัมมันภาพรังสีอยู่ในพิสัย0.1 ถึง 500 MBq เพื่อการสอบเทียบและอ้างอิงในระดับ certified reference materials หรือ CRM
- สอบเทียบเครื่องสำรวจความเปรอะเปื้อนสารรังสี(contamination monitors) โดยใช้ต้นกำเนิดรังสีมาตรฐานแบบแผ่นขนาดต่างๆ เช่น I-129, C-14, Sr/Y-90, Pu-239, Am-241, Cl-36 และ Cs-137 เป็นต้น
- ดำเนินการควบคุมคุณภาพเครื่องวัดสารกัมมันตรังสีเพื่อการแบ่งตวงสารเภสัชรังสี(dose calibrators) โดยวางแผนเตรียมสารรังสีมาตรฐาน I-131 ที่มีมาตรฐานและจัดส่งให้กับหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ทั่วประเทศ เพื่อให้เครื่องวัดดังกล่าว มีมาตรฐานการวัดสารเภสัชรังสีอย่างถูกต้อง ก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย
- พัฒนาและจัดหาสารอ้างอิงมาตรฐาน เพื่อใช้ในงานด้านการวัดและสอบเทียบปริมาณรังสีของเครื่องPET/CT ในอนาคต